วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

งานบุญเดือนสิบ



งานบุญเดือนสิบ เป็นงานบุญงานประเพณีที่สืบสานกันมาแต่โบราณกาล มีขึ้นระหว่างวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า งานบุญเดือนสิบเป็นงานประเพณีที่ชาวพุทธได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ ในประเทศอินเดีย เมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ และมีศูนย์กลางแหล่งอารยะธรรมที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวเมืองนครศรีฯ จึงรับเอาวัฒนะธรรมประเพณีทำบุญเดือนสิบไว้ แล้วแผ่กระจายไปยังจังหวัดอื่น ทั้งในภาคใต้และภาคอื่นๆ ของประเทศ
     จากการศึกษาพบว่า งานบุญเดือนสิบสืบเนื่องมาจากความเชื่อพุทธศาสนาว่า ในปลายเดือนสิบของทุกปี พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และ ญาติพี่น้อง ซึ่งล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีปาบต้องตกระกำลำบากเป็น "เปรต" จะได้รับการปล่อยตัวจากนรกภูมิให้มาหาลูกหลานญาติมิตรของตนในเมืองมนุษย์ จึงจัดงานทำบุญเป็นประเพณีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ครั้งหนึ่งเป็นการต้อนรับ กับจัดในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเลี้ยงส่ง และอุทิศบุญกุศลไปให้ การจัดงานบุญทั้งสองวันนี้ชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับวันหลังมากกว่า
      ชาวปักษ์ใต้ให้ความสำคัญกับงานบุญเดือนสิบมาก ผู้เฒ่าผู้แก่จะอบรมสั่งสอน และ ทำตัวอย่างให้ลูกหลานเห็นเป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่ๆ โดยเฉพาะคุณตา คุณยาย พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ ในวันทำบุญจะชวนลูกหลานไปทำบุญหรือไปชิงเปรตที่วัด เมื่อใกล้ถึงวันทำบุญทุกครอบครัวจะตระเตรียมข้าวของ อุปกรณ์ต่างๆให้พร้อม ผู้ที่อยู่ต่างถิ่นกำเนิดจะเริ่มทยอยเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมปักษ์ใต้บ้านเรา เพื่อไปร่วมพิธีทำบุญพร้อมหน้าพร้อมตากัน นับเป็นงานรวมญาติที่สำคัญงานหนึ่ง
ประเพณีทำบุญเดือนสิบ มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปหลายชื่อตามวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ตามความเชื่อและตามลักษณะของการจัดงาน เช่น
     1.เรียกตามชื่อเดือนที่จัดงาน เรียกว่า "ประเพณีทำบุญเดือนสิบ"
     2.เรียกชื่อตามประเพณี "สารท" ของอินเดียที่เรารับเอาวัฒนะธรรมนี้มา คำว่า "สารท" เป็นภาษาบาลีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายว่า "เกี่ยวกับหรือเกิดในฤดูใบไม้ร่วง, เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ" ในอินเดีย คำว่า "สารท" หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง เป็นฤดูกาลที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังผลิดอกออกผล ชาวอินเดียจะเก็บเกี่ยวไปทำขนมเซ่นพลีบูชาผีปู่ย่าตายาย และเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อตอบแทนพระคุณที่บรรดาลให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร บางแห่งบางท้องถิ่นเรียกงานนี้ว่า "ประเพณีทำบุญวันสารท" หรือ "ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ"
     3.เรียกตามชื่อตามขั้นตอนและลักษณะสำคัญของงานประเพณี เช่น "ประเพณียกหมรับ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"
     4.เรียกชื่อตามความมุ่งหมายหลักของประเพณี เพราะประเพณีการทำบุญนี้มีความมุ่งหมายหลักอยู่ที่ การทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว บางท้องถิ่นจึงเรียกประเพณีนี้ว่า "ประเพณีทำบุญตายาย" หรือ "ประเพณีรับส่งตายาย"
ขั้นตอนพิธีกรรมงานบุญเดือนสิบ
     ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านไม่ถือเป็นวันสำคัญนัก มีการประกอบพิธีแบบง่ายๆ เพียงจัดอาหารหวานคาวไปทำบุญถวายพระภิกษุสงฆ์ตามวัดวาอาราม เพื่อต้อนรับการกลับมาของตายาย บางที่ชาวบ้านเรียกว่า "วันรับตายาย" จัดหมรับ หรือ สำรับอาหารตามสมควรไม่จัดใหญ่โต ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชบางท้องถิ่นเรียกว่า "วัหมรับเล็ก" แต่ในวันแรม 15 ค่ำซึ่งเป็นวันสำคัญ (วันแรม 13 ค่ำ แรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ) ชาวบ้านจะจัดหมรับ หรือสำรับอย่างใหญ่ เรียกว่า "วันหมรับใหญ่" มีขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม ดังนี้
     1.วันเตรียมการหรือวันจ่าย อยู่ในช่วงระยะเวลาก่อนวันแรม 1 ค่ำ ประมาณ 15-20 วัน เป็นการเตรียมการจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหาร ขนม สิ่งของเครื่องใช้สำหรับการทำบุญ
     2.การจัดหมรับ ส่วนใหญ่จะจัดกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ ภาชนะที่ใช้จัดหมรับนิยมใช้กระบุงทรงเตี้ย สานด้วยตอกไม้ไผ่ ในหมรับจะประกอบด้วยข้าวสาร ปลาเค็ม ผัก ผลไม้ กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล หมากพลู น้ำมันก็าด ยาสามัญประจำบ้าน ธูปเทียน เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจัดใส่หมรับ คือ ขนม 5 อย่าง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานเดือนสิบ คือ
     ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ตามคติพุทธศาสนา
     ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ
     ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ
     ขนมดีซำ แทนเงิน/เบี้ยสำหรับใช้จ่าย
     ขนมบ้า แทนลูกสะบ้าสำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วใช้เล่นสนุกสนาน ในวันสงกรานต์หรือวันว่าง

     3.การยกหมรับหรือการถวายภัตตาหาร เมื่อจัดหมรับหรือสำรับข้าวปลาอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เสร็จแล้ว จะมีการยกหมรับไปวัดและถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ในวันแรม 15 ค่ำ บางแห่งบางท้องถิ่นจัดงานเฉพาะการแห่หมรับเป็นงานใหญ่มีขบวนแห่ แต่งเป็นขบวนเปรตในรูปลักษณ์ต่างกันคล้ายขบวนผีเปรตในงานฮาโลวีนของชาวคริสต์เป็นที่เอิกเกริกสนุกสนานกัน ก่อนจะยกหมรับไปวัดมีงานทำบุญฉลองหมรับ ทางใต้เรียกว่า "งานหลองหมรับ"
     4.การตั้งเปรต เมื่อมีการยกหมรับถวายภัตตาหารทำบุญเลี้ยงพระ และบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บุรพชนแล้ว จะมี "พิธีการตั้งเปรต" แต่เดิมจะกระทำโดยการนำเอาอาหารอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามที่ต่างๆ ซึ่งคาดว่าเปรตจะเดินผ่าน เช่น ตรงทางเข้าวัดบ้าง ริมกำแพงวัดบ้าง ตามโคนต้นไม้ทั้งในวัดและนอกวัด ต่อมาในระยะหลังมีการสร้างตั้งร้านสูงพอสมควร เรียกว่า "หลักเปรต" หรือ "ศาลาเปรต" เพื่อนำข้าวปลาอาหารที่ใส่กระทงหรือภาชนะต่างๆ ไว้เซ่นไหว้บุรพชน เข้าใจว่าที่สร้างศาลาเปรตให้สูง คงเพื่อความสะดวกแก่เปรตในการบริโภค เพราะมีความเชื่ออันว่าเปรตมีรูปร่างสูง ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ เวลากินอาหารที่ลูกหลานเซ่นไหว้
     การจัดอาหารหวานคาวจะจัดอาหารที่คาดว่าบุรพชนชอบอย่างละนิดละหน่อย และที่สำคัญขาดไม่ได้ คือ ขนม 5 อย่าง เมื่อตั้งอาหารสำหรับเปรตบนหลาเปรตเสร็จแล้ว จำนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จัดไว้เพื่อทำพิธีบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรต แผ่ส่วนบุญกุศลแก่บุรพชน เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์และเก็บสานสิญจน์แล้ว ผู้คนทั้งหญิงชาย เฒ่าแก่ หนุ่มสาวและเด็กๆ ก็จะกรูกันเข้าแย่งชิงอาหารที่ตั้งไว้นั้น เรียกว่า "ชิงเปรต" การชิงเปรตเป็นเรื่องสนุกสนาน ครื้นเครง เฮฮาของหนุ่มสาวและเด็ก เนื่องจากมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บุรพชน ถ้าใครได้กินจะได้รับกุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
     รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับงานบุญเดือนสิบยังมีอีกมาก ท่านที่สนใจสามารถศึกษาและดูงานได้จาก "งานทำบุญเดือนสิบ" ที่
    -อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช และ วัดวาอารามในเขต 14 จังหวัดภาคใต้
    -กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณสมาคมชาวปักษ์ใต้ ฝั่งธนบุรี และ วัดพรหมวงศาราม ห้วยขวาง
    -วัดเขมาภิตาราม จังหวัดนนทบุรี




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น