วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

วันมหิดล (24 กันยายน )




วันมหิดล
24 กันยายน ของทุกปี
 
ความหมาย  
            24 กันยายน วันมหิดล เป็น วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระราชชนกที่ทรงมีคุณูปการต่อการแพทย์สมัยใหม่ของไทย 
 
ความเป็นมา
            สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 และเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2472 มีพระนามเดิมว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช ในเบื้องต้น ได้ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมนี จากนั้นเสด็จกลับมารับราชการทหารเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรเรื้อรัง ไม่สามารถรับราชการหนักได้ ประกอบกับทรงสนพระทัยในกิจการทางด้านการแพทย์ จึงทรงอุตสาหะเสด็จไปศึกษาวิชาการสาธารณสุข และวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตเกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากเสด็จกลับมาเมืองไทย พระองค์ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมากมาย

ด้วยความรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผู้ที่เคยได้รับพระกรุณาในด้านต่างๆ จากพระองค์ จึงได้รวบรวมเงินจัดสร้างพระรูปประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้างมีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2493 และในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกันนี้เอง นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และทางคณะแพทย์ศาสตร์ และศิริราชพยาบาล ได้มีความเห็นพร้อมต้องกันว่าให้ยึดถือเอาวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่น้อมรำลึกถึงพระองค์โดยให้ชื่อว่า วันมหิดล และงานวันมหิดลได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 24 กันยายน 2494 โดยจัดให้มีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า และการนำพวงมาลาไปสักการะที่พระรูป

 
พระราชกรณียกิจมากมายที่พระองค์ได้ทรงประกอบไว้มีดังนี้
  1. ทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์
  2. ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช
  3. ประทานทรัพย์สินส่วนพระองค์ และจัดสร้างตึกคนไข้ และจัดหาที่พักสำหรับพยาบาลให้ได้อยู่อาศัย
  4. ทรงบริจาคทรัพย์เป็นทุนสำหรับส่งนักศึกษาแพทย์ และนักเรียนพยาบาลไปศึกษาต่อต่างประเทศ
  5. ประทานเงินเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องมือ สำหรับปฏิบัติการให้แก่โรงพยาบาล
  6. ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลติดต่อกับมูลนิธิรอคกีเฟลเลอร์ สาขาเอเซียบูรพา ในการปรับปรุง และวางมาตรฐานการศึกษา
  7. ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง
     
วัตถุประสงค์โดยสรุป 
  1. เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ให้ปรากฏแก่ มวลสมาชิกทั่วโลก
  2. เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง     ร่วมกับ ประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่อมเชิดชูเกียรติ ในการนี้ รัฐบาลไทย     โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมเพื่อให้ยูเนสโก ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศ ยกย่องสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2535
     
ที่มา :
ศิริวรรณ คุ้มโห้ ; วันและประเพณีสำคัญ , บริษัท สำนักพิมพ์เดอะบุคส์ จำกัด, กทม. 245 น. 
ธวัชชัย  พืชผล; วันสำคัญของไทย. บริษัท สารสาร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, กทม.(หน้า 67-69).
 

วันเยาวชนแห่งชาติ (20 กันยายน)


วันเยาวชนแห่งชาติ20 กันยายน
ประวัติความเป็นมา
          วันเยาวชนแห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากล ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพใน
          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468
และพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์
          นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนที่กระจายกันทั่วประเทศ ได้ตระหนักว่าเยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ภูมิใจและหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นไทย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักการอดออมและประหยัดรวมทั้งการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
          นอกจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนของชาติเป็นทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และสถาบันทีมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนา คือ สถาบันครอบครัว ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ ดูแล ทนุถนอม ให้ความรักความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการที่จะนำพาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ซึ่งจะพาประเทศชาติให้เจริญรุงเรืองต่อไปในภายภาคหน้า
ความหมายคำว่าเยาวชน
          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า “เยาวชน” ไว้ดังนี้ (ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 673)
          เยาวชน หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส
          องค์การสหประชาชาติ (สุภักดิ์ อนุกูล วันสำคัญของไทย, หน้า 82) ได้ให้ความหมายสากลของคำว่า เยาวชน หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15 – 25 ปี
???????? เยาวชน เป็นกลุ่มคนที่มีพลังอันสำคัญที่สามารถช่วยกันเสริมสร้างกิจกรรมที่เป็น ประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต เยาวชนควรตระหนักในคุณค่าของตนเองที่ร่วมแรงร่วมใจ สามัคคี และเสียสละส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มีคุณธรรม จริยธรรม และสติปัญญาอันชาญฉลาด ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามแก่สังคม และนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญรุ่งเรือง
เป้าหมายของวันสำคัญ มี 3 ประการ คือ
  1. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 15 – 25 ปี ได้ตระหนักนึกความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
  2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อประเทศชาติทั้งในด้านคุณภาพคุณธรรม
  3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สัมฤทธิ์ผล
กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเยาวชนแห่งชาติ
  1. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความสำคัญ หน้าที่ ของเยาวชนเพื่อให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักและเข้าใจ
  2. ?ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์กิจการเพื่อการกุศล กิจกรรมในชุมชน ฯลฯ
คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล โดยใช้คำขวัญ Participation, Development and Peace ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชาติ และมอบคำขวัญที่ถอดความเป็นภาษาไทยว่า ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้
ร่วมแรงแข็งขัน (participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็น เครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ
?ช่วยกันพัฒนา (development) การพัฒนานั้นมองได้ 2 มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมินิหนึ่งคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและ ประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วย กระบวนการพัฒนา 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ
ใฝ่หาสันติ (peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน

ความเป็นมาของเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ
ในปี พ.ศ.2517 สำนักเยาวชนแห่งชาติ ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารและประสานงานเยาวชนแห่งชาติว่า เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินงานเยาวชนแห่งชาติ สมควรที่ขอรับพระราชทาน เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ผูกพันพลังน้ำใจ และเป็นเครื่องยึดมั่นสักการบูชาร่วมกันของบรรดาเยาวชน กลุ่มเยาวชน และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน จึงได้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งสำนักพระราชเลขาธิการได้นำความกาบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระ บาท แล้ไม่ทรงขัดข้อง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำพระมหาพิชัยมงกุฎประดับบนส่วนยอดเครื่องหมายเยวชน แห่งชาติ
ความหมายเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ
          เครื่องหมายเยาวชนนี้ได้รับพระราชทาน และพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎบนส่วนยอดของเครื่องหมาย เพื่อเป็นมิ่งขวัญ กำลังใจ และศิริมงคลแก่ชีวิตของเยาวชน รูปลักษณะของเครื่องหมายนี้เป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรคำว่า เยาวชน สีขาวอยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมีอุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า พลังพัฒนาชาติ รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง ซึ่งสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้อธิบายได้ดังนี้คือ
          1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ องค์ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะ และเป็นจุดรวมน้ำใจของคนทั้งประเทศ
          2. รัศมีที่พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายความว่า เยาวชนไทยนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ
          3. อุณาโลม หมายถึง หว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า ใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนา
          4. อักษรเยาวชนสีขาวในพื้นวงกลมสีเขียวรูปโล่สีธงชาติ หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์แห่งความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนไทย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการกสิกรรม อันเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
          5. รวงข้าวทั้ง 9 รวง มีความหมายถึง เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนทั้ง 9 ประการ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ โดยที่รวงข้าวหมายถึง ความเติบโตงอกงาม ฉะนั้น คุณลักษณะ 9 ประการที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติที่จะงอดงามขึ้นตามตัวเยาวชน
          6. อักษรว่า พลัง พัฒนาชาติ เป็นคำขวัญ เพื่อเตือนใจเยาวชนให้ตระหนักว่า พวกเขานั้นมีพลังบริสุทธิ์อันหนักแน่น จริงจัง ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ
?แหล่งอ้างอิง
1. ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.
2. วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์,2528.

งานบุญเดือนสิบ



งานบุญเดือนสิบ เป็นงานบุญงานประเพณีที่สืบสานกันมาแต่โบราณกาล มีขึ้นระหว่างวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า งานบุญเดือนสิบเป็นงานประเพณีที่ชาวพุทธได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ ในประเทศอินเดีย เมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ และมีศูนย์กลางแหล่งอารยะธรรมที่เมืองนครศรีธรรมราช ชาวเมืองนครศรีฯ จึงรับเอาวัฒนะธรรมประเพณีทำบุญเดือนสิบไว้ แล้วแผ่กระจายไปยังจังหวัดอื่น ทั้งในภาคใต้และภาคอื่นๆ ของประเทศ
     จากการศึกษาพบว่า งานบุญเดือนสิบสืบเนื่องมาจากความเชื่อพุทธศาสนาว่า ในปลายเดือนสิบของทุกปี พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และ ญาติพี่น้อง ซึ่งล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีปาบต้องตกระกำลำบากเป็น "เปรต" จะได้รับการปล่อยตัวจากนรกภูมิให้มาหาลูกหลานญาติมิตรของตนในเมืองมนุษย์ จึงจัดงานทำบุญเป็นประเพณีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ครั้งหนึ่งเป็นการต้อนรับ กับจัดในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเลี้ยงส่ง และอุทิศบุญกุศลไปให้ การจัดงานบุญทั้งสองวันนี้ชาวบ้านจะให้ความสำคัญกับวันหลังมากกว่า
      ชาวปักษ์ใต้ให้ความสำคัญกับงานบุญเดือนสิบมาก ผู้เฒ่าผู้แก่จะอบรมสั่งสอน และ ทำตัวอย่างให้ลูกหลานเห็นเป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่ๆ โดยเฉพาะคุณตา คุณยาย พ่อแม่ และญาติผู้ใหญ่ ในวันทำบุญจะชวนลูกหลานไปทำบุญหรือไปชิงเปรตที่วัด เมื่อใกล้ถึงวันทำบุญทุกครอบครัวจะตระเตรียมข้าวของ อุปกรณ์ต่างๆให้พร้อม ผู้ที่อยู่ต่างถิ่นกำเนิดจะเริ่มทยอยเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมปักษ์ใต้บ้านเรา เพื่อไปร่วมพิธีทำบุญพร้อมหน้าพร้อมตากัน นับเป็นงานรวมญาติที่สำคัญงานหนึ่ง
ประเพณีทำบุญเดือนสิบ มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปหลายชื่อตามวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ตามความเชื่อและตามลักษณะของการจัดงาน เช่น
     1.เรียกตามชื่อเดือนที่จัดงาน เรียกว่า "ประเพณีทำบุญเดือนสิบ"
     2.เรียกชื่อตามประเพณี "สารท" ของอินเดียที่เรารับเอาวัฒนะธรรมนี้มา คำว่า "สารท" เป็นภาษาบาลีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้ความหมายว่า "เกี่ยวกับหรือเกิดในฤดูใบไม้ร่วง, เทศกาลทำบุญสิ้นเดือนสิบ" ในอินเดีย คำว่า "สารท" หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง เป็นฤดูกาลที่พืชพันธุ์ธัญญาหารกำลังผลิดอกออกผล ชาวอินเดียจะเก็บเกี่ยวไปทำขนมเซ่นพลีบูชาผีปู่ย่าตายาย และเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อตอบแทนพระคุณที่บรรดาลให้มีพืชพันธุ์ธัญญาหาร บางแห่งบางท้องถิ่นเรียกงานนี้ว่า "ประเพณีทำบุญวันสารท" หรือ "ประเพณีทำบุญสารทเดือนสิบ"
     3.เรียกตามชื่อตามขั้นตอนและลักษณะสำคัญของงานประเพณี เช่น "ประเพณียกหมรับ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต"
     4.เรียกชื่อตามความมุ่งหมายหลักของประเพณี เพราะประเพณีการทำบุญนี้มีความมุ่งหมายหลักอยู่ที่ การทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว บางท้องถิ่นจึงเรียกประเพณีนี้ว่า "ประเพณีทำบุญตายาย" หรือ "ประเพณีรับส่งตายาย"
ขั้นตอนพิธีกรรมงานบุญเดือนสิบ
     ในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ชาวบ้านไม่ถือเป็นวันสำคัญนัก มีการประกอบพิธีแบบง่ายๆ เพียงจัดอาหารหวานคาวไปทำบุญถวายพระภิกษุสงฆ์ตามวัดวาอาราม เพื่อต้อนรับการกลับมาของตายาย บางที่ชาวบ้านเรียกว่า "วันรับตายาย" จัดหมรับ หรือ สำรับอาหารตามสมควรไม่จัดใหญ่โต ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชบางท้องถิ่นเรียกว่า "วัหมรับเล็ก" แต่ในวันแรม 15 ค่ำซึ่งเป็นวันสำคัญ (วันแรม 13 ค่ำ แรม 14 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ) ชาวบ้านจะจัดหมรับ หรือสำรับอย่างใหญ่ เรียกว่า "วันหมรับใหญ่" มีขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม ดังนี้
     1.วันเตรียมการหรือวันจ่าย อยู่ในช่วงระยะเวลาก่อนวันแรม 1 ค่ำ ประมาณ 15-20 วัน เป็นการเตรียมการจับจ่ายใช้สอยซื้ออาหาร ขนม สิ่งของเครื่องใช้สำหรับการทำบุญ
     2.การจัดหมรับ ส่วนใหญ่จะจัดกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนสิบ ภาชนะที่ใช้จัดหมรับนิยมใช้กระบุงทรงเตี้ย สานด้วยตอกไม้ไผ่ ในหมรับจะประกอบด้วยข้าวสาร ปลาเค็ม ผัก ผลไม้ กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล หมากพลู น้ำมันก็าด ยาสามัญประจำบ้าน ธูปเทียน เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญที่ต้องจัดใส่หมรับ คือ ขนม 5 อย่าง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานเดือนสิบ คือ
     ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทนแพสำหรับใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ ตามคติพุทธศาสนา
     ขนมลา แทนเครื่องนุ่งห่มแพรพรรณ
     ขนมกงหรือขนมไข่ปลา แทนเครื่องประดับ
     ขนมดีซำ แทนเงิน/เบี้ยสำหรับใช้จ่าย
     ขนมบ้า แทนลูกสะบ้าสำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วใช้เล่นสนุกสนาน ในวันสงกรานต์หรือวันว่าง

     3.การยกหมรับหรือการถวายภัตตาหาร เมื่อจัดหมรับหรือสำรับข้าวปลาอาหารและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เสร็จแล้ว จะมีการยกหมรับไปวัดและถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ในวันแรม 15 ค่ำ บางแห่งบางท้องถิ่นจัดงานเฉพาะการแห่หมรับเป็นงานใหญ่มีขบวนแห่ แต่งเป็นขบวนเปรตในรูปลักษณ์ต่างกันคล้ายขบวนผีเปรตในงานฮาโลวีนของชาวคริสต์เป็นที่เอิกเกริกสนุกสนานกัน ก่อนจะยกหมรับไปวัดมีงานทำบุญฉลองหมรับ ทางใต้เรียกว่า "งานหลองหมรับ"
     4.การตั้งเปรต เมื่อมีการยกหมรับถวายภัตตาหารทำบุญเลี้ยงพระ และบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บุรพชนแล้ว จะมี "พิธีการตั้งเปรต" แต่เดิมจะกระทำโดยการนำเอาอาหารอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามที่ต่างๆ ซึ่งคาดว่าเปรตจะเดินผ่าน เช่น ตรงทางเข้าวัดบ้าง ริมกำแพงวัดบ้าง ตามโคนต้นไม้ทั้งในวัดและนอกวัด ต่อมาในระยะหลังมีการสร้างตั้งร้านสูงพอสมควร เรียกว่า "หลักเปรต" หรือ "ศาลาเปรต" เพื่อนำข้าวปลาอาหารที่ใส่กระทงหรือภาชนะต่างๆ ไว้เซ่นไหว้บุรพชน เข้าใจว่าที่สร้างศาลาเปรตให้สูง คงเพื่อความสะดวกแก่เปรตในการบริโภค เพราะมีความเชื่ออันว่าเปรตมีรูปร่างสูง ไม่ต้องก้มๆ เงยๆ เวลากินอาหารที่ลูกหลานเซ่นไหว้
     การจัดอาหารหวานคาวจะจัดอาหารที่คาดว่าบุรพชนชอบอย่างละนิดละหน่อย และที่สำคัญขาดไม่ได้ คือ ขนม 5 อย่าง เมื่อตั้งอาหารสำหรับเปรตบนหลาเปรตเสร็จแล้ว จำนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จัดไว้เพื่อทำพิธีบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรต แผ่ส่วนบุญกุศลแก่บุรพชน เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์และเก็บสานสิญจน์แล้ว ผู้คนทั้งหญิงชาย เฒ่าแก่ หนุ่มสาวและเด็กๆ ก็จะกรูกันเข้าแย่งชิงอาหารที่ตั้งไว้นั้น เรียกว่า "ชิงเปรต" การชิงเปรตเป็นเรื่องสนุกสนาน ครื้นเครง เฮฮาของหนุ่มสาวและเด็ก เนื่องจากมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บุรพชน ถ้าใครได้กินจะได้รับกุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
     รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับงานบุญเดือนสิบยังมีอีกมาก ท่านที่สนใจสามารถศึกษาและดูงานได้จาก "งานทำบุญเดือนสิบ" ที่
    -อำเภอเมืองจังหวัดนครศรีธรรมราช และ วัดวาอารามในเขต 14 จังหวัดภาคใต้
    -กรุงเทพมหานคร ณ บริเวณสมาคมชาวปักษ์ใต้ ฝั่งธนบุรี และ วัดพรหมวงศาราม ห้วยขวาง
    -วัดเขมาภิตาราม จังหวัดนนทบุรี